ความเป็นมา

การต่อสู้กับการค้ามนุษย์กลายเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น นับตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อปี 2557 รัฐบาลยังคงดำเนินตามนโยบาย “ขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป” ต่อไป อย่างไม่ย่อท้อ มีการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ หลายภาคส่วนในสังคมไทยได้เข้าร่วมและทำงานด้วยกัน ในลักษณะของการร่วมมือและประสานงานกัน คำพิพากษาของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และ/หรือ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์เริ่มปรากฎให้เห็น ในขณะเดียวกันการปรับปรุงโครงสร้างในภาคประมงของไทยเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญหลายฉบับ ที่เคยคิดว่าไม่สามารถเป็นไปได้ ได้มีผลใช้บังคับแล้ว เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ.2559 การแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2558 และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 24 เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย.๕๙ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๙ (Trafficking in Persons Report 2016 หรือ TIP Report) โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดสถานะจากบัญชีกลุ่มที่ ๓ (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด เป็นอันดับบัญชีกลุ่มที่ ๒ ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) จากความมุ่งมั่นและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยรวมถึงความร่วมมือเพื่อคุ้มครองดูแลผู้เสียหายและการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด ซึ่งนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์และความคืบหน้าเป็นรูปธรรม โดยมี ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศพดส.ตร.) (ATPC) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution)